About Us ประวัติความเป็นมา About Us ข้อบังคับสมาคมฯ About Us คณะกรรมการสมาคมฯ
 

About Us ประวัติความเป็นมา

         สมาคมนักเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก ได้ถือกำเนิดขึ้นมาโดยการรวมกลุ่ม และก่อตั้งจากชมรมนักปฏิบัติการควบคุมเครื่องปอดหัวใจเทียมแห่งประเทศไทย และชมรมนักเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก   ซึ่งชมรมนักปฏิบัติการควบคุมเครื่องปอดหัวใจเทียมแห่งประเทศไทย เริ่มก่อตั้งครั้งแรกในปี พ.ศ.2526 โดย มีหลากหลายสาขาวิชา ไม่ว่าจะเป็นพยาบาล  พนักงานวิทยาศาสตร์การแพทย์  นักเทคนิคการแพทย์  ปฏิบัติการควบคุมเครื่องปอดหัวใจเทียม (Heart Lung Machine) ในการผ่าตัดหัวใจ ซึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพปฏิบัติงานรุ่นแรกๆ โดยมีอาจารย์บังอร เนียมอินทร์  เป็นประธานชมรม  ต่อมา มหาวิทยาลัยนเรศวรได้ผลิตนักเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอกเพิ่มจำนวนมากขึ้น  จึงรวมกลุ่มกันก่อตั้งเป็นชมรมนักเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอกแห่งประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2556 โดยมี น.ส.จารุวรรณ  วงศ์สายตา เป็นประธานชมรม  มีสมาชิกเป็นนักเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอกที่จบจากมหาวิทยาลัยนเรศวร ปฏิบัติงานในการควบคุมเครื่องปอดหัวใจเทียม (Heart Lung Machine)   งานตรวจประเมินระบบหัวใจปอดและหลอดเลือด (Non invasive procedure)  งานตรวจประเมินระบบหัวใจปอดและหลอดเลือด  (Invasive procedure)  นอกจากนี้ยังมีงานด้านเกี่ยวข้องกับการผ่าตัด  ผู้ป่วยหนัก  และผู้ป่วยฉุกเฉิน  ได้แก่  การติดตามการทำงานของหัวใจและปอด (Hemodynamic Monitoring)  ควบคุมเครื่องพยุงการทำงานของหัวใจ  ปอด (Intra Aortic  balloon  pump ,Ventricular Assist Device ,Extracorporeal Membrane Oxygenation )  ควบคุมเครื่องล้างและเก็บเม็ดเลือด (Cell saver)  เป็นต้น  จะเห็นว่าสมาชิกของเรามีขอบเขตของการทำงานมากขึ้น  เป็นที่ยอมรับของผู้ร่วมวิชาชีพเวชกรรมทั้งศัลยแพทย์ทรวงอก และ อายุรแพทย์โรคหัวใจ  ปัจจุบันมีนักเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอกจำนวนมากกว่า 500 คน

          ขณะนี้ มีมหาวิทยาลัยที่ผลิตบัณฑิตสาขาเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอกอยู่ 2 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยนเรศวร และวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำให้จำนวนนักเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอกมีเพิ่มมากขึ้นทุกปี  ทางกองประกอบโรคศิลป์ และคณะกรรมการวิชาชีพสาขาเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก เห็นว่าควรมีการจัดตั้งสมาคมนักเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอกขึ้น ให้เหมือนสหสาขาวิชาชีพอื่น  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นองค์กรที่จะดูแลสนับสนุน เสริมสร้างความรู้ทางวิชาการด้านเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอกแก่สมาชิกให้ก้าวหน้าและทันสมัยอยู่เสมอ รวมถึงมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางด้านวิชาการและ เผยแพร่ความรู้ด้านเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอกแก่ผู้ร่วมวิชาชีพและประชาชน รวมถึงส่งเสริมให้มีความรักสามัคคีระหว่างสมาชิก ดังนั้นจึงมีการรวมตัว และได้จัดตั้งเป็นสมาคมนักเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอกขึ้นมา โดยเริ่มปฏิบัติงานเป็นสมาคมฯ ตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2559


About Us ข้อบังคับสมาคมฯ

หมวดที่ 1 ความรู้ทั่วไป

ข้อ 1  สมาคมนี้มีชื่อว่า “สมาคมนักเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก”  ใช้อักษรย่อว่า “สนทห

เขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า “The Society of Cardio-Thoracic Technologists”  ใช้อักษรย่อว่า “SCTT

 

ข้อ 2  เครื่องหมายของสมาคม

                                                                                                     

เส้นโค้งรูปหัวใจด้านซ้ายและขวา : มีลักษณะคล้ายรูปคนหันหน้าเข้าหากัน ประกอบเป็นรูปหัวใจ ซึ่งหมายถึง...การรวมตัวกันของสองชมรม (คือชมรมนักปฏิบัติการเครื่องหัวใจและปอดเทียมกับชมรมนักเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก) เพื่อร่วมมือร่วมใจกันในการจัดตั้งสมาคมฯ

หัวใจด้านซ้ายเป็นสีธงชาติ หมายถึง...ประเทศไทย และผู้ป่วยโรคหัวใจในประเทศไทย ที่เราจะร่วมมือร่วมใจกันดูแลรักษา

รูปคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เป็นสัญลักษณ์แทนนักเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก ทั้งในส่วนของ Non-invasive , ห้องสวนหัวใจ ห้องผ่าตัดหัวใจ รวมไปถึงงานด้านอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก

ป้ายชายธงกรอบสีเขียว ภายในมีข้อความ  “สมาคมนักเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก”  ด้านข้าง มีปี พ.ศ. / ค.ศ. ที่เริ่มก่อตั้ง

 

ข้อ 3  สำนักงานของสมาคม ตั้งอยู่ อาคารเฉลิมพระบารมี 50 ปี  ชั้น 11  เลขที่ 2  ซอยศูนย์วิจัย  เขตห้วยขวาง  กรุงเทพมหานคร  10130

ข้อ 4 วัตถุประสงค์ของสมาคม 

4.1 ส่งเสริมและแลกเปลี่ยนความรู้ด้านเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก ให้ก้าวหน้าและทันเหตุการณ์อยู่เสมอ

4.2 สนับสนุนการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับความรู้ด้านเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก

4.3 ส่งเสริมความสามัคคีระหว่างสมาชิก

4.4 ฝึกอบรมวิชาการที่เกี่ยวข้องด้านเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอกให้แก่สมาชิกและบุคลากรทางการแพทย์

4.5 เผยแพร่ความรู้ด้านเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอกให้แก่ประชาชน

4.6 ร่วมมือและประสานงานกับสถาบันวิชาการ และการกุศลอื่นๆ เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสมาคมฯ

4.7 ไม่ดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวกับการเมือง

 


หมวดที่ 2 สมาชิก

ข้อ 5 สมาชิกของสมาคม แบ่งออกเป็น 33 ประเภท คือ

5.1  สมาชิกสามัญ ได้แก่

5.1.1 บุคคลที่ได้รับใบประกอบโรคศิลปะสาขาเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก ที่รับรองโดยกองประกอบโรคศิลปะ

5.1.2 บุคคลที่ทำงานและมีประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก ซึ่งได้ยื่นความจำนงขอสมัครเข้าเป็นสมาชิกและคณะกรรมการลงมติอนุมัติรับเข้าเป็นสมาชิกสามัญ

5.2 สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่ บุคคลที่ทรงคุณวุฒิ หรือผู้ที่มีอุปการะแก่สมาคม ซึ่งคณะกรรมการบริหารไม่น้อยกว่าสามในสี่ของกรรมการบริหารทั้งหมดมีมติให้เชิญเข้าเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ และบุคคลนั้นตอบรับเชิญ

5.3 สมาชิกสมทบ ได้แก่ บุคคลที่ปฏิบัติงาน หรือสนใจงานทางด้านเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก และคณะกรรมการบริหารรับรองวาระการเป็นสมาชิกสมทบครั้งละไม่เกิน 2 ปี หลังจากนั้นอาจได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกสามัญหรือสมาชิกสมทบต่อไป

ข้อ 6  สมาชิกทุกประเภท จะต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้

6.1  เป็นผู้บรรลุนิติภาวะแล้ว

6.2  เป็นผู้มีความประพฤติเรียบร้อย

6.3  ไม่เป็นโรคที่สังคมรังเกียจ

6.4  ไม่ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลาย หรือไร้ความสามารถ หรือ เสมือนไร้ความสามารถ หรือ ต้องโทษจำคุก ยกเว้นความผิดฐานประมาท หรือ ลหุโทษ การต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดในกรณีดังกล่าว จะต้องเป็น ในขณะที่สมัครเข้าเป็นสมาชิกหรือในระหว่างที่เป็นสมาชิกของสมาคมเท่านั้น

ข้อ 7 ค่าลงทะเบียน และ ค่าบำรุงสมาคม

7.1  สมาชิกสามัญ จะต้องเสียค่าบำรุงสมาคมฯ ครั้งเดียวตลอดชีพ คนละ 1,000 บาท

7.2  สมาชิกกิตติมศักดิ์ มิต้องเสียค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงสมาคมฯ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

7.3  สมาชิกสมทบ จะต้องเสียค่าบำรุงสมาคมฯ คนละ 300 บาทต่อ 2 ปี

ข้อ 8 การสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสมาคม ให้ผู้ประสงค์จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมยื่นใบสมัคร ตามแบบของสมาคมต่อเลขานุการ โดยมีสมาชิกสามัญรับรองอย่างน้อย 1 คน และให้เลขานุการติดประกาศรายชื่อผู้สมัครไว้ ณ สำนักงานของสมาคม เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 15 วัน เพื่อให้สมาชิกอื่นๆ ของสมาคมจะได้คัดค้านการสมัครนั้น เมื่อครบกำหนดประกาศแล้วก็ให้เลขานุการนำใบสมัครและหนังสือคัดค้านของสมาชิก (ถ้ามี) เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการเพื่อพิจารณาอนุมัติว่า จะรับหรือไม่รับเข้าเป็นสมาชิกของสมาคม และเมื่อคณะกรรมการพิจารณาการสมัครแล้ว ผลเป็นประการใด ให้เลขานุการเป็นผู้แจ้งให้ผู้สมัครทราบโดยเร็ว

ข้อ 9 ถ้าคณะกรรมการพิจารณาอนุมัติให้รับผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิก ก็ให้ผู้สมัครนั้นชำระเงินค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงสมาคมให้เสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากเลขานุการ  และสมาชิกภาพของผู้สมัคร ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ผู้สมัครได้ชำระเงินค่าลงทะเบียน และค่าบำรุงสมาคมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ถ้าผู้สมัครไม่ชำระเงินค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงภายในกำหนด ก็ให้ถือว่าการสมัครคราวนั้นเป็นอันยกเลิก

ข้อ 10 สมาชิกภาพของสมาชิกกิติมศักดิ์ ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่หนังสือตอบรับคำเชิญของผู้ที่คณะกรรมการได้พิจารณาลงมติให้เชิญเข้าเป็นสมาชิกของสมาคม ได้มาถึงยังสมาคม

ข้อ 11 สมาชิกภาพของสมาชิกให้สิ้นสุดลงด้วยเหตุดังต่อไปนี้

11.1 ตาย

11.2 ลาออก โดยยื่นหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรต่อคณะกรรมการ และคณะกรรมการได้พิจารณาอนุมัติ และสมาชิกผู้นั้นได้ชำระหนี้สินที่ยังติดค้างอยู่กับสมาคมเป็นที่ เรียบร้อย

11.3 ขาดคุณสมบัติสมาชิก

11.4 ที่ประชุมใหญ่ของสมาคม หรือคณะกรรมการได้พิจารณาลงมติให้ลบชื่อออกจากทะเบียนเพราะสมาชิกผู้นั้นได้ประพฤตินำความเสื่อมเสียมาสู่สมาคม

ข้อ 12 สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก

12.1  มีสิทธิเข้าใช้สถานที่ของสมาคมโดยเท่าเทียมกัน

12.2  มีสิทธิเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการของสมาคมต่อคณะกรรมการ

12.3  มีสิทธิได้รับสวัสดิการต่างๆ ที่สมาคมได้จัดให้มีขึ้น

12.4  มีสิทธิเข้าร่วมประชุมใหญ่ของสมาคม

12.5  สมาชิกสามัญมีสิทธิในการเลือกตั้ง หรือได้รับการเลือกตั้ง หรือแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการสมาคม และมีสิทธิออกเสียงลงมติต่างๆ ในที่ประชุมได้คนละ 1 คะแนนเสียง

12.6  มีสิทธิร้องขอต่อคณะกรรมการ เพื่อตรวจสอบเอกสารและบัญชีทรัพย์สินของสมาคม

12.7  สมาชิกสามัญ มีสิทธิเข้าชื่อร่วมกันอย่างน้อย 1 ใน 5 ของสมาชิกสามัญทั้งหมดทำหนังสือร้องขอต่อคณะกรรมการให้จัดประชุมใหญ่วิสามัญได้

12.8  มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามระเบียบปฏิบัติ และข้อบังคับของสมาคมโดยเคร่งครัด

12.9  มีหน้าที่ประพฤติตนให้สมกับเกียรติที่เป็นสมาชิกของสมาคม

12.10 มีหน้าที่ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินกิจการต่างๆ ของสมาคม

12.11 มีหน้าที่ร่วมกิจกรรมที่สมาคมได้จัดให้มีขึ้น

12.12 มีหน้าที่ช่วยเผยแพร่ชื่อเสียงของสมาคมให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย

12.13 สมาชิกผู้ใดเปลี่ยน ยศ นาม นามสกุล อภิไธย ต้องแจ้งให้เลขาธิการทราบเป็นลายลักษณ์อักษรโดยมิชักช้า

 


หมวดที่ 3 การดำเนินกิจการสมาคม

ข้อ 13 ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง ทำหน้าที่บริหารกิจการของสมาคม มีจำนวนอย่างน้อย 9 คน อย่างมากไม่เกิน 15 คน คณะกรรมการนี้ ได้มาจากการเลือกตั้งของที่ประชุมใหญ่ของสมาคม และให้ผู้ที่ได้เลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่ เลือกตั้งกันเองเป็นนายกสมาคม 1 คน และอุปนายก 1 คน สำหรับตำแหน่งกรรมการในตำแหน่งอื่นๆ ให้ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่เข้าดำรงตำแหน่งต่างๆ ของสมาคม ตามที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งตำแหน่งของกรรมการสมาคมมีตำแหน่งและหน้าที่โดยสังเขป ดังต่อไปนี้

13.1  นายกสมาคม ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าในการบริหารกิจการของสมาคมเป็นผู้แทนสมาคม ในการติดต่อกับบุคคลภายนอก และทำหน้าที่ เป็นประธานในที่ประชุม

13.2  อุปนายก ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยนายกสมาคมในการบริหารกิจการสมาคม ปฏิบัติตามหน้าที่นายกสมาคมได้มอบหมายและทำหน้าที่แทนนายกสมาคมเมื่อนายกสมาคมไม่อยู่ หรือไม่สามารถจะปฏิบัติหน้าที่ได้ แต่การทำหน้าที่แทนนายกสมาคม ให้อุปนายกสมาคมลำดับตำแหน่งเป็นผู้กระทำการแทน

13.3  เลขาธิการ ทำหน้าที่เกี่ยวกับงานธุรการของสมาคมทั้งหมด เป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่ของสมาคมในการปฏิบัติการของสมาคม และปฏิบัติตามคำสั่งของนายกสมาคม ตลอดจนทำหน้าที่เป็นเลขานุการในการประชุมต่างๆ ของสมาคม

13.4  เหรัญญิก มีหน้าที่เกี่ยวกับการเงินทั้งหมดของสมาคมเป็นผู้จัดทำบัญชีรายรับ รายจ่าย บัญชีงบดุลของสมาคมและเก็บเอกสารหลักฐานต่างๆของสมาคมไว้เพื่อตรวจสอบ

13.5  ปฏิคม มีหน้าที่ในการให้การต้อนรับแขกของสมาคม เป็นหัวหน้าในการจัดเตรียมสถานที่ของสมาคม และจัดเตรียมสถานที่ประชุมต่างๆ ของสมาคม

13.6  นายทะเบียน มีหน้าที่เกี่ยวกับทะเบียนสมาชิกทั้งหมดของสมาคม ประสานงานกับเหรัญญิกในการเรียกเก็บเงินค่าบำรุงสมาคมจากสมาชิก

13.7  ประชาสัมพันธ์ มีหน้าที่เผยแพร่กิจการและชื่อเสียงเกียรติคุณของสมาคมให้สมาชิกและบุคคลทั่วไปให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย

13.8  กรรมการวิชาการ มีหน้าที่จัดและดำเนินงานด้านวิชาการตามมติของที่ประชุมคณะกรรมการการบริหาร การรวบรวมข้อมูลข่าวสาร องค์ความรู้เกี่ยวข้องกับนักเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก การจัดการฝึกอบรม สัมมนา ตลอดจนการส่งเสริมการศึกษาวิจัยและประสานงานกับกรรมการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในการประชุมสามัญหรือสัมมนาวิชาการประจำปี และปฏิบัติงานด้านวิชาการอื่น ๆ ตามที่ ได้รับมอบหมาย

13.9  กรรมการตำแหน่งอื่นๆ ตามความเหมาะสม ซึ่ง คณะกรรมการเห็นสมควรกำหนดให้มีขึ้นโดยมีจำนวนเมื่อรวมกับตำแหน่งกรรมการตามข้างต้นแล้วจะต้องไม่เกินจำนวนที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้ แต่ถ้าคณะกรรมการมิได้กำหนดตำแหน่งก็ถือว่าเป็นกรรมการกลาง  คณะกรรมการชุดแรก ให้ผู้เริ่มการจัดตั้งสมาคมเป็นผู้เลือกตั้ง ประกอบด้วยนายกสมาคมและกรรมการอื่นๆ ตามจำนวนที่เห็นสมควรตามข้อบังคับของสมาคม

ข้อ 14 คณะกรรมการของสมาคมสามารถดำรงอยู่ในตำแหน่งได้คราวละ 2 ปี และเมื่อคณะกรรมการอยู่ในตำแหน่งครบกำหนดตามวาระแล้ว แต่คณะกรรมการชุดใหม่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการ ก็ให้คณะกรรมการที่ครบกำหนดตามวาระรักษาการไปพลางก่อน จนกว่าคณะกรรมการชุดใหม่จะได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการ และเมื่อคณะกรรมการชุดใหม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ให้ทำการส่งและรับมอบงานกันระหว่างคณะกรรมการชุดเก่าและคณะกรรมการชุดใหม่ให้เป็นที่เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการชุดใหม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการ

ข้อ 15 ตำแหน่งกรรมการสมาคม ถ้าต้องว่างลงก่อนครบกำหนดตามวาระก็ให้คณะกรรมการแต่งตั้งสมาชิกสามัญคนใดคนหนึ่งที่เห็นสมควร เข้าดำรงตำแหน่งแทนตำแหน่งที่ว่างลงนั้น แต่ผู้ดำรงตำแหน่งแทนอยู่ในตำแหน่งได้เท่ากับวาระของผู้ที่ตนแทนเท่านั้น

ข้อ 16 กรรมการอาจจะพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งมิใช่เป็นการออกตามวาระด้วยเหตุผลต่อไปนี้ คือ

16.1 ตาย
16.2 ลาออก
16.3 ขาดจากสมาชิกภาพ
16.4 ที่ประชุมใหญ่ลงมติให้ออกจากตำแหน่ง

ข้อ 17 กรรมการที่ประสงค์จะลาออกจากตำแหน่งกรรมการ ให้ยื่นใบลาออกเป็นลายลักษณ์อักษรต่อคณะกรรมการ และพ้นจากตำแหน่งเมื่อคณะกรรมการมีมติให้ออก

ข้อ 18 อำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการ

18.1 มีอำนาจออกระเบียบปฏิบัติต่าง ๆ เพื่อให้สมาชิกได้ปฏิบัติ โดยระเบียบปฏิบัตินั้นจะต้องไม่ขัดต่อข้อบังคับฉบับนี้
18.2 มีอำนาจแต่งตั้งและถอดถอนเจ้าหน้าที่ของสมาคม
18.3 มีอำนาจแต่งตั้งกรรมการที่ปรึกษา หรืออนุกรรมการได้ แต่กรรมการที่ปรึกษาหรืออนุกรรมการ จะสามารถอยู่ในตำแหน่งได้ไม่เกินวาระของคณะกรรมการที่แต่งตั้ง
18.4 มีอำนาจเรียกประชุมใหญ่สามัญประจำปี และประชุมใหญ่วิสามัญ
18.5 มีอำนาจแต่งตั้งกรรมการในตำแหน่งอื่น ๆ ที่ยังมิได้กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้
18.6 มีอำนาจบริหารกิจการของสมาคม เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ตลอดจนมีอำนาจอื่น ๆ ตามที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้
18.7 มีหน้าที่รับผิดชอบในกิจการทั้งหมด รวมทั้งการเงิน และทรัพย์สินทั้งหมดของสมาคม
18.8 มีหน้าที่จัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญ ตามที่สมาชิกสามัญจำนวน 1 ใน 5 ของสมาชิกทั้งหมด ได้เข้าชื่อร้องขอให้จัดประชุมใหญ่วิสามัญขึ้น ซึ่งการนี้จะต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญขึ้นภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือร้องขอ
18.9 มีหน้าที่จัดทำเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ทั้งที่เกี่ยวกับการเงิน ทรัพย์สินและการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของสมาคมให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ และสามารถจะให้สมาชิกตรวจดูได้เมื่อสมาชิกร้องขอ
18.10 จัดทำบันทึกการประชุมต่าง ๆ ของสมาคม เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานและจัดส่งให้สมาชิกได้ทราบ
18.11 มีหน้าที่อื่น ๆ ตามที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้

ข้อ 19 คณะกรรมการบริหารจะต้องประชุมกันอย่างน้อยปีละ 4 ครั้ง โดยจัดให้มีขึ้นทุกๆ 3 เดือน ทั้งนี้เพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับการบริหารกิจการของสมาคม

ข้อ 20 การประชุมคณะกรรมการ จะต้องมีกรรมการเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมด จึงจะถือว่าครบองค์ประชุม มติของที่ประชุมคณะกรรมการ ถ้าข้อบังคับมิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ก็ให้ถือคะแนนเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ แต่ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ก็ให้ประธานในการประชุมเป็นผู้ชี้ขาด

ข้อ 21 ในการประชุมคณะกรรมการ ถ้านายกสมาคมและอุปนายกสมาคมไม่อยู่ในที่ประชุม หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ก็ให้กรรมการที่เข้าประชุมในคราวนั้นเลือกตั้งกันเอง เพื่อให้กรรมการคนใดคนหนึ่งทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุมคราวนั้น

 


หมวดที่ 4 การประชุมใหญ่

ข้อ 22 การประชุมใหญ่ของสมาคมมี 2 ชนิด คือ

22.1 ประชุมใหญ่สามัญ
22.2 ประชุมใหญ่วิสามัญ

ข้อ 23 คณะกรรมการจะต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ปีละ 1 ครั้ง ภายในเดือน เมษายน ของทุกปี

ข้อ 24 การประชุมใหญ่วิสามัญ อาจจะมีขึ้นได้ก็โดยเหตุที่คณะกรรมการเห็นควรจัดให้มีขึ้น หรือเกิดขึ้นด้วยการเข้าชื่อร่วมกันของสมาชิกสามัญไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของสมาชิกสามัญทั้งหมด หรือสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่า 100 คน ทำหนังสือร้องขอต่อคณะกรรมการให้จัดให้มีขึ้น

ข้อ 25 การแจ้งกำหนดนัดประชุมใหญ่ให้เลขานุการเป็นผู้แจ้งกำหนดนัดประชุมใหญ่ให้สมาชิกได้ทราบและการแจ้งจะต้องแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร โดยระบุวัน เวลา และสถานที่ให้ชัดเจน โดยจะต้องแจ้งให้สมาชิกทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน และการประกาศแจ้งกำหนดนัดประชุมไว้ ณ สำนักงานของสมาคมเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 7 วัน ก่อนถึงกำหนดการประชุมใหญ่

ข้อ 26 การประชุมใหญ่สามัญประจำปี จะต้องมีวาระการประชุมอย่างน้อยดังต่อไปนี้

26.1 แถลงกิจการที่ผ่านมาในรอบปี
26.2 แถลงบัญชีรายรับ รายจ่าย และบัญชีงบดุลของปีที่ผ่านมาให้สมาชิกรับทราบ
26.3 เลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ เมื่อครบกำหนดวาระ
26.4 เรื่องอื่นๆ (ถ้ามี)

ข้อ 27 ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี หรือการประชุมใหญ่วิสามัญจะต้องมีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกสามัญทั้งหมด จึงจะถือว่าครบองค์ประชุม แต่ถ้าเมื่อถึงกำหนดเวลาการประชุมยังมีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมไม่ครบองค์ประชุม ให้คณะกรรมการของสมาคม เรียกประชุมใหญ่อีกครั้งหนึ่ง โดยจัดให้มีการประชุมขึ้นภายใน 15 วัน นับแต่วันที่นัดประชุมครั้งแรก สำหรับการประชุมในครั้งหลังนี้ ถ้ามีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมเป็นจำนวนเท่าใด ก็ให้ถือว่าครบองค์ประชุม ยกเว้นถ้าเป็นการประชุมใหญ่วิสามัญที่เกิดขึ้นจากการร้องขอของสมาชิก ก็ไม่ต้องจัดประชุมใหญ่ ให้ถือว่าการประชุมเป็นอันยกเลิก

ข้อ 28 การลงมติต่างๆ ในที่ประชุมใหญ่ ถ้าข้อบังคับมิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ก็ให้ถือคะแนนเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ แต่ถ้าคะแนนเสียงที่ลงมติมีคะแนนเสียงเท่ากัน ก็ให้ประธานในการประชุมเป็นผู้ชี้ขาด

ข้อ 29 ในการประชุมใหญ่ของสมาคม ถ้านายกสมาคม และอุปนายกไม่มาร่วมประชุม หรือไม่สามารถจะปฏิบัติหน้าที่ได้ ก็ให้ที่ประชุมใหญ่ทำการเลือกตั้งกรรมการที่มาร่วมประชุมคนใดคนหนึ่ง ให้ทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุมคราวนั้น

 


หมวดที่ 5  การเงินและทรัพย์สิน

ข้อ 30 การเงินและทรัพย์สินทั้งหมดให้อยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการ เงินสดของสมาคมถ้ามีให้นำฝากไว้ในธนาคารไทยพาณิชย์ สาขารามาธิบดี หรือธนาคารอื่นตามที่คณะกรรมการมีมติให้ความเห็นชอบ

ข้อ 31 การลงนามในตั๋วเงินหรือเช็คของสมาคม จะต้องมีลายมือชื่อของนายกสมาคม หรือ ผู้ทำการแทนลงนามร่วมกับเหรัญญิก หรือเลขานุการ พร้อมกับประทับตราของสมาคม จึงจะถือว่าใช้ได้

ข้อ 32 ให้นายกสมาคมมีอำนาจสั่งจ่ายเงินของสมาคมได้ครั้งละไม่เกิน 50,000 บาท (ห้าหมื่นบาทถ้วน) ถ้าเกินกว่านั้นจะต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการและคณะกรรมการจะอนุมัติจ่ายได้ครั้งละไม่เกิน 500,000 บาท (ห้าแสนบาทถ้วน) ถ้าจำเป็นจะต้องจ่ายเกินกว่านี้ ต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมใหญ่ของสมาคม

ข้อ 33 ให้เหรัญญิก มีอำนาจเก็บรักษาเงินสดย่อยของสมาคมได้ไม่เกิน 20,000 บาท (สองหมื่นบาทถ้วน) ถ้าเกินกว่านี้ จะต้องนำมาฝากธนาคารในบัญชีของสมาคมทันทีที่โอกาสอำนวยให้  ให้เลขาธิการ มีอำนาจเก็บรักษาเงินสดย่อยของสมาคมได้ไม่เกิน 20,000 บาท (สองหมื่นบาทถ้วน) ถ้าเกินกว่านี้ จะต้องนำฝากธนาคารในบัญชีของสมาคมทันทีที่โอกาสอำนวยให้

ข้อ 34 เหรัญญิก จะต้องทำบัญชีรายรับ รายจ่าย และบัญชีงบดุล ให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ การรับหรือจ่ายทุกครั้ง จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ ลงลายมือชื่อของนายกสมาคมหรือผู้ทำการแทนร่วมกับเหรัญญิกหรือผู้ทำการแทน พร้อมกับประทับตราของสมาคมทุกครั้ง

ข้อ 35 ผู้สอบบัญชี จะต้องมิใช่กรรมการหรือเจ้าหน้าที่ของสมาคม และจะต้องเป็นผู้สอบบัญชีที่ได้รับอนุญาต

ข้อ 36 ผู้สอบบัญชีมีอำนาจหน้าที่จะเรียกเอกสารที่เกี่ยวกับการเงินและทรัพย์สินจากคณะกรรมการและสามารถจะเชิญกรรมการ หรือเจ้าหน้าที่ของสมาคมเพื่อสอบถาม เกี่ยวกับบัญชีและทรัพย์สินของสมาคมได้

ข้อ 37 คณะกรรมการจะต้องให้ความร่วมมือกับผู้สอบบัญชี เมื่อได้รับการร้องขอ

 


หมวดที่ 6 การเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับและการเลิกสมาคม

ข้อ 38 ข้อบังคับของสมาคมจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้โดยมติของที่ประชุมใหญ่เท่านั้น และองค์ประชุมใหญ่จะต้องมีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกสามัญทั้งหมด มติของที่ประชุมใหญ่ในการให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับ จะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกสามัญที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมด

ข้อ 39 การเลิกสมาคมจะเลิกได้ก็โดยมติของที่ประชุมใหญ่ของสมาคม ยกเว้นเป็นการเลิกเพราะเหตุของกฎหมาย มติของที่ประชุมใหญ่ที่ให้เลิกสมาคมจะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของสมาชิกสามัญที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมด และองค์ประชุมใหญ่จะต้องไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกสามัญที่เข้าร่วมประชุม

ข้อ 40 เมื่อสมาคมต้องเลิก ไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ ก็ตาม ทรัพย์สินของสมาคมที่เหลืออยู่หลังจากที่ได้ชำระบัญชีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ให้ตกเป็นของ สถาบันการศึกษาหรือมูลนิธิอื่น ตามที่ประชุมใหญ่เห็นสมควร  (ผู้รับจะต้องมีฐานะเป็นนิติบุคคล ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการกุศลสาธารณประโยชน์)

 


หมวดที่ 7 บทเฉพาะกาล

ข้อ 41 ข้อบังคับฉบับนี้นั้น ให้เริ่มบังคับใช้ได้นับตั้งแต่วันที่สมาคมได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเป็นต้นไป

ข้อ 42 เมื่อสมาคมได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลจากทางราชการ ก็ให้ถือว่าผู้เริ่มการทั้งหมดเป็นสมาชิกสามัญ

 


About Us คณะกรรมการสมาคมฯ

heart คณะกรรมการบริหารสมาคมนักเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก heart

( รายชื่อคณะกรรมการบริหารสมาคมฯชุดปัจจุบัน 2567 – 2568 )

1. นายกสมาคมฯ :  นางสาวสกลสุภา  เวชวิฐาน

2. อุปนายกฯ :  พ.ท.หญิงนัดดา เณรพงษ์

3. เลขาธิการ :  นางวรรณฤดี  ทองเชิด

4. ปฏิคม  :  นางสาวกันยารัตน์ บุญทิม

5. นายทะเบียน :  นางสาวเกตุศิริ  ทิพย์คำ

6. ประชาสัมพันธ์ :  นายณัฐวีร์  พาครุฑ

7. วิชาการ :  นายสุเมธี  จิระรัตน์กุล

8. เหรัญญิก :  นางสาวศรัณยา  โอฬาร์ชน

9. กรรมการ :  นางสาวกาญจนา  อินทะแสง

10. กรรมการ :  นายนิพนธ์  สุประดิษฐ์อาภรณ์

11. กรรมการ :  นางสาวพรหมวลี อินทร์จันทร์

12. กรรมการ :  นายอุเทน บุญมี

13. กรรมการ :  นางสาวจิตต์สุภา อุปการดี

14. กรรมการ :  นางสาวณัฐธิดา บรรเทา

15. กรรมการ :  นางนงนภัส ศรีสุวรรณชาติ

 



Address : ห้องสวนหัวใจชั้น2 สถาบันโรคทรวงอก 74 ตำบลบางกระสอ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี 11000
Phone : 02-354-5366
Fax : 02-354-5366
eMail : sctt.thailand@gmail.com